เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2565 เวลา 10.00 น. นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ได้เปิดเผยถึงวันช้างไทยในปีนี้ว่า วันนี้ปางช้างได้นำช้างน้อยของปางช้างแม่สาจำนวน 5 เชือกมากินเค้กผลไม้วันเกิดพังรุ่งฟ้า ช้างน้อยที่จะมีอายุครบ 4 ขวบในวันที่ 13 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็น”วันช้างไทย” ช้างรุ่นเล็กของปางช้างแม่สา มีอายุระหว่าง 3-4 ขวบ ประกอบด้วย พลายขุนศึก พังสร้อยฟ้า พังรุ่งฟ้า พังน้ำทิพย์ พังเอื้องคำ บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนาน.
วันช้างไทยในปีนี้ได้เวียนมาอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 13 มีนาคม 2565 ตั้งแต่รัฐบาลไทยได้ประกาศให้มีวันช้างไทยขึ้นในปี 2541 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา สมัยนายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ระลึกถึง และตระหนักถึงความสำคัญของช้างไทย ผ่านรูปแบบการจัดกิจกรรมหรือจัดงานอย่างใดก็ได้ ให้ช้างได้ถูกพูดถึง และยกย่องให้มีบทบาทสำคัญที่มีมาแต่ครั้งโบราณกาลและยังไม่ถูกลืมจนกระทั่งถึงปัจจุบัน แม้ว่าบทบาทและชีวิตของช้างไทยจะเปลี่ยนไปมาก หลังจากที่รัฐบาลไทยได้ยกเลิกการทำสัมปทานป่าไม้ ดูเหมือนว่าช้างลากไม้ส่วนใหญ่จะตกงาน และเดินทางเข้าสู่เส้นทางด้านการท่องเที่ยว โดยมีหน้าที่สำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สนใจในธรรมชาติของช้าง หลงใหลในรูปร่างหน้าตา และความสามารถของช้างไทย ที่ถูกนำมาฝึกสอน ให้ทำในสิ่งที่น่าอัศจรรย์ เช่น เต้นระบำ เตะฟุตบอล วาดรูป และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งช้างก็สามารถทำได้จริง และทำหน้าที่ช้างในบทบาทของนักแสดงมาอย่างยาวนาน มีทั้งคณะช้างเร่ ที่เดินทางไปเปิดการแสดงตามสถานที่ต่างๆ และ ช้างให้เช่าไปตามปางช้างหรือแคมป์ช้าง และยังมีช้างที่เจ้าของพาเดินเร่ ขายผลไม้ทำรายได้ในแต่ละวัน เพื่อเลี้ยงปากท้องของช้างเองและเจ้าของ.
คงปฏิเสธได้ยากว่ารัฐบาลเองก็ต้องการจัดการปัญหาเรื่องช้างมาโดยตลอด แต่เนื่องจากช้างเลี้ยงเป็นสัตว์ที่มีเจ้าของ ว่าด้วยการเป็นสัตว์พาหนะมาตั้งแต่ก่อนปี 2500 และยังคงเป็นอยู่จนถึงปัจจุบัน ช้างเลี้ยงจึงมีสถานะเป็นเหมือนรถยนต์หนึ่งคันที่มีผู้ครอบครอง มีทะเบียนหรือตั๋วรูปพรรณ สามารถซื้อขาย และโอนให้กันได้โดยง่าย การจะเปลี่ยนสถานะของช้างจึงต้องแก้ไขด้านกฏหมาย รัฐถึงจะเข้ามาควบคุมช้างได้ ซึ่งก็ไม่ง่ายและต้องใช้เวลานานหลายปี.
ก่อนหน้าที่เราจะมีปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ราคาช้างบ้านได้ถีบตัวสูงขึ้นมาก โดยเริ่มต้นจาก 7-8 แสน มาถึง 1.5 ล้าน และมากถึงเชือกละ 3 ล้านบาทเลยทีเดียว แต่เมื่อมีสถานการณ์โควิดเกิดขึ้น ทันทีที่เจ้าของปางช้างเลิกจ้าง เร่งรีบที่จะลดภาระ ในเดือนเมษายน ปี 2563 ช้างส่วนใหญ่ถูกส่งกลับไปยังถิ่นที่อยู่อาศัยของเจ้าของเดิม ไม่ว่าจะเป็นการเดินเท้า หรือเดินทางด้วยรถ แต่เมื่อกลับไปแล้ว ปัญหาของทั้งคนและช้างก็เพิ่งเริ่มขึ้น ช้างได้กลายเป็นภาระเต็ม 100% ไม่สามารถสร้างรายได้แม้แต่น้อย แต่ในทางกลับกันช้างคือรายจ่าย ค่ากินอยู่ ค่าอาหาร ค่ายารักษาโรค ยิ่งโควิดลากยาวเท่าไหร่ ช้างก็ลำบากมากขึ้นเท่านั้น มีช้างที่เกิดโรค อ่อนแอ ล้มตาย ได้รับอาหารไม่เพียงพอ ช้างส่วนหนึ่งได้รับการดูแลเอาใจใส่น้อยกว่าเดิม และโครงการช้างกลับคืนถิ่น ไม่ได้มีความพร้อมในการจัดเตรียมพื้นที่ ข่าวช้างกินหญ้าที่ปนเปื้อนสารพิษเริ่มมีออกมา รวมถึงข่าวช้างต้องไปอาศัยอยู่ตามวัด พึ่งพาพระสงฆ์ เพื่อให้ผู้คนที่ไปวัดได้ให้อาหารเลี้ยงดู รวมถึงข่าวพระสงฆ์เริ่มซื้อช้างเพื่อมอบให้แก่มูลนิธิต่างๆ หรือแม้แต่การนำไปมอบให้ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย และแน่นอนที่สุดราคาช้างตกลงอย่างไม่น่าเชื่อ มูลค่าของช้างกลับไปที่ราคาไม่ถึงล้านบาทต่อเชือกอีกครั้ง ในขณะที่ช้างสองเชือก อาจจะขายได้แค่ 1.2 ล้าน – 1.5 ล้านเท่านั้น
ในขณะที่ทางภาคอีสานก็มีการนำช้างกลับคืนถิ่น มีการสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านทางองค์การสวนสัตว์ฯ ทำให้มีควาญช้างมีเงินเดือนประจำ จะสังเกตุได้ว่ามีมูลนิธิช่วยเหลือช้างเกิดขึ้นมาเพิ่มอีกมาก เช่นทางภาคใต้ก็มีหน่วยงานที่พยายามจะช่วยเหลือช้าง และรับบริจาคเงิน ยังไม่นับชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้ช่องทางในการเลี้ยงช้างและหาประโยชน์จากช้างอีกทางหนึ่งด้วย จริงๆแล้ว อะไรคือทางออกของช้างไทย ดูเหมือนว่าเรามีสถาบันช้างแห่งชาติ มีศูนย์อนุรักษ์ มีโรงพยาบาลของรัฐ แต่ก็ไม่ได้แตกต่างจากการทำงานของเอกชนแต่อย่างใด องค์กรเหล่านั้นยังคงต้องช่วยเหลือตนเอง ขาดทุนจนต้องหาเงินแข่งกับเอกชนด้วยซ้ำ ส่วนภาคเอกชนที่มีช้างและเลี้ยงช้างย่อมมีความคิดเป็นอิสระ ไม่ได้เข้าอยู่ในระบบหรือกฏเกณฑ์ใดๆ.
การเลี้ยงช้างจึงไปคนละทิศคนละทาง ไม่มีใครสามารถช่วยเหลือใครได้ ช้างไทยในวันนี้จึงมีชีวิตที่ไม่แน่นอน จะกลับไปเหมือนเดิมก็คงจะยากแล้ว ในวินาทีที่เศรษฐกิจโลก ราคาทอง ราคาน้ำมัน และปัจจัยรอบตัวมีผลกระทบกับผู้คน คนยังลำบาก สิ่งที่ตามมาคือผลกระทบกับสัตว์ สัตว์ที่ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของชาติ เป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธ์ุ เป็นสัตว์ที่ต้องอนุรักษ์ไว้ เพราะช้างเอเชีย มีอยู่ไม่มาก และอยู่ได้ในบางประเทศเท่านั้น การมีช้างเกิดหรือช้างตายในประเทศไทย จึงมีผลต่อจำนวนช้างเอเชียของโลก ที่ทุกฝ่ายเฝ้าจับตามอง ช้างในที่นี้หมายถึงช้างบ้านและช้างป่าด้วย.
ในปีนี้ปางช้างแม่สา ได้งดกิจกรรมวันช้างไทยในวันที่ 13 มีนาคม 2565 เนื่องด้วยปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งๆที่ปางช้างแม่สาเป็นปางช้างแห่งแรกในประเทศไทยที่ริเริ่มการจัดงานวันช้างไทยขึ้นตั้งแต่ปี 2543 และจัดอย่างยิ่งใหญ่ต่อเนื่องมาทุกปี ปีนี้จึงเป็นปีที่เราต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในวันถัดไป ถ้าเราอยากเลี้ยงช้างให้ดีทั้งปี เราอาจต้องงดกิจกรรมบางอย่าง เราจึงถือโอกาสนี้ปิดปางช้างให้ช้างและควาญได้พักผ่อน 1 วัน ซึ่งก็ถือเป็นการฉลอง “วันช้างไทย” อย่างหนึ่ง และกลับมาสู้ต่อในวันที่ 14 มีนาคม 2565
ปางช้างแม่สาได้เปิดบริการฟรีให้ทุกคนได้เข้าชมช้าง พร้อมกับนโยบายป้องกันโควิด-19 โดยได้เปิดฟรีมาตั้งแต่กลางปี 2563 ถึงปัจจุบัน ด้วยปางช้างมีโครงการที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์อนุรักษ์ช้างแม่สา งดการแสดง การนั่งช้างอย่างเด็ดขาด หันมาทำเป็นแหล่งเรียนรู้ ด้วยประสบการณ์ 46 ปี และแบ่งปันทุกอย่าง “ให้ปางช้างแม่สาได้กลายเป็นปางช้างของคนไทย”.