เชียงราย สืบชะตาป่าชุ่มน้ำ ลุ่มน้ำอิง ปลูกฝัง ชุมชน ชาวบ้านตระหนักถึงความสำคัญของป่า

 

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 สภาประชาชนลุ่มน้ำอิง นำโดยนายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต นายสายันห์ ข้ามหนึ่ง เจ้าหน้าที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต นำเจ้าหน้าที่สมาคม ร่วมกับ ชุมชนบ้านทุ่งศรีเกิด ม.3 ต.ยางฮอม อ.ขุนตาล จ.เชียงราย นำโดยนายฉัตรชัย สอนแก้ว ผู้ใหญ่บ้านทุ่งศรีเกิด ได้จัดกิจกรรมสืบชะตาป่าชุ่มน้ำ แม่น้ำอิง ร่วมผลักดันการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำสู่ Ramsar site วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก(World Wetland Day ) ที่ ป่าชุ่มน้ำบ้านทุ่งศรีเกิด ม. 3 ต.ยางฮอม อ.ขุนตาล จ.เชียงราย.

ด้วยวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เนื่องจาก ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2514 นานาชาติได้ร่วมยกร่างและลงนามในการรับรอง “อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศโดยเฉพาะเป็นแหล่งที่อยู่ของนกน้ำ” ขึ้น ณ เมือง Ramsarประเทศอิหร่าน อนุสัญญาเป็นรู้จักในนามอนุสัญญาแรมซาร์ มีผลบังคับใช้เมื่อปี พ.ศ. 2518 ตามเงื่อนไขว่าอนุสัญญาฯ จะมีผลบังคับใช้เมื่อประเทศต่างๆ เข้าร่วมเป็นภาคี ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาแรมซาร์เป็นลำดับที่ 110 ซึ่งพันธกรณีของอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ วันที่ 13 กันยายน 2541.

นายฉัตรชัย สอนแก้ว กล่าวว่า ป่าชุ่มน้ำหรือป่าริมอิงของบ้านทุ่งศรีเกิด รวมทั้งหนองน้ำมีพื้นที่ประมาณ 138 ไร่ ซึ่งคนในชุมชนรักษาไว้ตั้งแต่อดีต เป็นแหล่งอาหาร เก็บผัก แหล่งเลี้ยงสัตว์ พื้นที่หน้าหมู่ของชุมชน ป่าเรามีกฎระเบียบในการดูแลรักษา วันนี้เลยจัดพิธีสืบชะตา เพื่อเป็นการอนุรักษ์ป่าไว้ให้คนรุ่นหลัง ให้คนในชุมชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของป่า รวมถึงเรื่องปลา หนองน้ำแหล่งน้ำ ทางชุมชนอยากจัดมาหลายปีแล้วแต่ว่าติดเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ปีเลยต้องจัดแบบเล็กๆ และปีต่อไปหากสถานการณ์ดีขึ้นก็จะจัดกิจกรรมให้ชุมชนรอบข้างเข้ามาร่วม และทำเป็นประเพณีทุกปีเพื่อให้ชุมชน ชาวบ้านตระหนักถึงความสำคัญของป่า การจัดงานครั้งนี้ชาวบ้านทุกคนมีมติเห็นด้วยถึงความสำคัญการจัดงาน นอกจากจะทำเป็นป่าอนุรักษ์ ป่านี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน การจัดงานครั้งนี้มีผู้สูงอายุ แม่บ้าน กรรมการชุมชน นักเรียน รวมถึงหน่วยงาน กศน.อำเภอขุนตาล และผู้นำในตำบลร่วมกันจัดงานนี้ขึ้น.

นายสายัณน์ ข้ามหนึ่ง เจ้าหน้าที่สมาคมแม่น้ำเพื่อ ชีวิตกล่าวว่า ป่าชุ่มน้ำบ้านทุ่งศรีเกิด เป็น 1 ใน 7 ป่าที่ของขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ที่สวนกับกระแสจำนวนพื้นที่ชุ่มน้ำของโลกที่ลดจำนวนลง แต่ในพื้นที่ลุ่มน้ำอิงยังมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์หลงเหลืออยู่ ตอนนี้อยู่ในช่วงในการขอขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำ อยู่ในช่วงการกรอกข้อมูล Information sheet การจัดกิจกรรมครั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ ความอุดมสมบูรณ์ของป่า โดยนำความเชื่อทางศาสนามาเป็นกุศโลบายในการจัดงานสืบชะตาป่า เพื่อรักษาป่า และมีแผนงานระยะยาวร่วมกับชุมชน เรื่องการฟื้นฟูป่า หลังจากมีการวางแปลงสำรวจพันธุ์พืช ปลูกไม้ท้องถิ่นเสริม รวมถึงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาในแหล่งน้ำของชุมชน การจัดกิจกรรมสืบชะตาป่าชุ่มน้ำ ในลุ่มน้ำอิง มีเป้าหมายในการสร้างความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำร่วมกันของชาวบ้าน หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรภาคีต่างๆ เพื่อการผลักดันขอขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (แรมซาร์ ไซต์)ต่อไป.

“ลุ่มน้ำอิงตอนล่างมีความยาวประมาณ 133 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่อำเภอเทิงไปจนบรรจบแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงของ พบพื้นที่ชุ่มน้ำจำนวน 26 แห่ง ป่าชุ่มน้ำหรือป่าริมอิงมีความสำคัญหนึ่งในนิยามของพื้นที่ชุ่มน้ำแรมซ่าไซ ที่สำคัญ มีความสำคัญอยู่ 4-5 เรื่องด้วยกัน คือเป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากในฤดูฝน และเป็นแหล่งให้น้ำในฤดูแล้งสำหรับการทำการเกษตรรอบๆข้างพื้นที่ และเป็นพื้นที่รองรับนกอพยพมาในช่วงฤดูหนาว ที่สำคัญอีกอันคือพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่แหล่งอาหารของชุมชน ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ในป่าตลอดทั้งปี พื้นที่ชุ่มน้ำจึงเป็นพื้นที่พิเศษที่ความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างสูง ที่สำคัญคือพื้นที่เหล่านี้เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญมากในลุ่มน้ำอิงและลุ่มน้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติที่มีการเคลื่อนย้ายขึ้นลงของปลา ในลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำอิงเป็นแหล่งอนุบาลลูกปลาขนาดเล็กในช่วงฤดูน้ำหลากที่สำคัญมาก พื้นที่ป่าชุ่มน้ำจะมีน้ำท่วมอยู่ประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งป่าชุ่มน้ำในลุ่มน้ำอิงมีพื้นที่ 22,000 ไร่ จึงเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำในวัยอ่อน นอกจากนั้นพื้นที่ชุ่มน้ำยังเป็นแหล่งอาหารของชุมชนในพื้นที่ 133 กิโลเมตร เป็นแหล่งโปรตีนหลักของชุมชนที่ได้มาจากพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่ผ่านมาชุมชนได้มีกฎระเบียบในการรักษาป่า ซึ่งเป็นการคุ้มครองที่ชาวบ้านเป็นคนออกแบบเองและได้รับการยอมรับในชุมชน แต่ในการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำ จะเป็นการยอมรับในระดับนานาชาติ ก็จะมีการคุ้มครองในนามอนุสัญญาแรมซาไซ ก็จะเป็นเกราะป้องกันอย่างเป็นทางการและมีกฎหมายคุ้มครองให้กับชุมชนอีกที ตอนนี้ก็ใช้กฎของชุมชนที่เขาดูแลกันอยู่ จึงเป็นที่มาของกันผลักดันขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำในลุ่มน้ำอิงตอนล่าง” นายสายันห์ กล่าว.

จากรายงานพบว่า ลุ่มน้ำอิงเป็นลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำโขงในจังหวัดเชียงรายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีทรัพยากรสำคัญโดยเฉพาะป่าชุ่มน้ำที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำอิงตอนล่าง มากกว่า 10,000 ไร่ ใน 26 ชุมชน และเป็นระบบนิเวศที่เชื่อมกับแม่น้ำข้ามพรมแดนที่กำลังมีการพัฒนาอย่างเข้มข้นขึ้นในพื้นที่ชายแดนพม่า-ลาวเพื่อเชื่อมต่อกับอีก 2 ประเทศ ได้แก่จีน และเวียดนาม อันเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของภูมิภาค ในพื้นที่ลุ่มน้ำอิงตอนล่าง พบป่าริมน้ำอิงอยู่ตลอดลำน้ำ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำประเภทหนึ่ง “ป่าชุ่มน้ำในลุ่มน้ำอิงตอนล่าง หรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่า “ป่าฮิม(ริม)อิง” เป็นป่าที่มีอัตลักษณ์พิเศษหายากเป็น “ป่านอกนิยาม” (Forestry outside definition ) ที่อาจจะมีที่เดียวในประเทศไทยคือ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) ประเภทป่าที่มีน้ำท่วมขังบางฤดูกาล (seasonally-flooded forest) โดยท่วมประมาณ 3 เดือนในฤดูน้ำหลากจากน้ำในแม่น้ำอิงผสมกับน้ำจากแม่น้ำโขงที่เอ่อขึ้นมา ทำให้ป่าชุ่มน้ำที่นี่มีระบบนิเวศเฉพาะตัวพบได้แห่งเดียวในประเทศไทย พันธุ์ไม้เด่นที่พบจึงเป็นไม้ที่ทนน้ำท่วมได้เป็นเวลานาน เช่น ข่อย ชุมแสงเป็นต้น ปัจจุบันพบว่าป่าชุ่มน้ำมีอยู่ 26 ป่า กระจายตัวอยู่ในทั้ง 4 อำเภอในลุ่มน้ำอิงตอนล่าง ซึ่งทั้งหมดเป็นป่าที่ชาวบ้านร่วมกันรักษาไว้เป็นป่าของชุมชนอย่างสอดคล้องกับระบบสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น.

โดย ป่าชุ่มน้ำบ้านทุ่งศรีเกิด หมู่ที่ 3 เป็นส่วนหนึ่งผืนป่าในลุ่มน้ำอิงตอนปลาย โดยมีเนื้อที่ประมาณ 138 ไร่จากการสำรวจโครงสร้างป่า พบว่ามีความหลากหลายของชนิดต้นไม้อย่างน้อย 7ชนิด โดยพบว่าชนิดไม้ที่พบมากคือ ข่อย ชุมแสง และหัด ซี่งเป็นไม้ที่ทนน้ำท่วมซึ่งเป็นป่าที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของป่าชุ่มน้ำ โดยมีความหนาแน่นของต้นไม้โดยรวม 90ต้นต่อไร่ มีการทดแทนของไม้หนุ่ม 3ชนิด ในอัตรา 83 ต้นต่อไร่ และการทดแทนของลูกไม้อย่างน้อย 5ชนิด ในอัตรา 14,160ต้นต่อไร่ เมื่อเปรียบเทียบจากผลการศึกษาสภาพป่าชุมชนทุ่งศรีเกิดกับนิยามป่าเสื่อมโทรมพบว่าป่าชุมชนบ้านทุ่งศรีเกิดมีความหนาแน่นมากกว่านิยามดังกล่าวถึง 7.6 เท่า ปริมาณการกักเก็บคาร์บอนเหนือดิน (above ground carbon) พบว่ามีศักยภาพเก็บกักคาร์บอนกว่า 14.57ตันต่อไร่ ซึ่งถือมีศักยภาพสูงมากซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชุ่มน้ำนี้เป็นพื้นที่อื่นๆ จะส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์กว่า 53.42ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อไร่.

cr.ณัฐวัตร ลาพิงค์/เชียงราย.